หลักเกณฑ์การคัดเลือกคุณภาพเวชภัณฑ์
คำนำ
เป็นที่ทราบกันดีว่า เวชภัณฑ์ชนิดเดียวกันแต่ผลิตจากต่างบริษัท มีคุณภาพไม่เท่าเทียมกัน ถึงแม้จะผลิตจากบริษัทเดียวกัน แต่ต่างรุ่นก็อาจมีคุณภาพแตกต่างกัน
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอะไร ?
- กระบวนการผลิตของบริษัทยังไม่ได้มาตรฐาน
- การพัฒนาสูตรตำรับที่ยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร
- คุณสมบัติเฉพาะของตัวยาที่ไม่คงตัว
- คุณภาพวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไม่ได้มาตรฐาน
คุณภาพของเวชภัณฑ์ที่จะจัดหาถือเป็นหัวใจของการจัดหา หากเวชภัณฑ์ที่คัดเลือกไม่ได้คุณภาพ จะก่อให้เกิดผลเสีย
- ความสิ้นเปลือง และเกิดผลกระทบต่อการรักษาพยาบาล
- ระบบการจัดหาเวชภัณฑ์ร่วมกันเกิดความล้มเหลว เนื่องจากได้ของถูกแต่คุณภาพไม่ดี
ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดให้มีการกำหนด เกณฑ์ในการคัดเลือกคุณภาพของเวชภัณฑ์
หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคุณภาพเวชภัณฑ์
การคัดเลือกเวชภัณฑ์เพื่อใช้ในโรงพยาบาลของรัฐ ถือเป็นหัวใจของการจัดซื้อและเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขตระหนักอยู่เสมอ จึงได้เน้นให้ทุกโรงพยาบาลในความรับผิดชอบ มีการจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคุณภาพเวชภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขา เช่น แพทย์ , เภสัชกร , พยาบาล , เทคนิคการแพทย์ ฯลฯ มาร่วมกันคัดเลือกเวชภัณฑ์ โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคุณภาพ เช่น ในกรณีของยา จะมีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของยาแต่ละชนิด เช่น เปอร์เซ็นต์ตัวยาสำคัญของยา , ความสามารถในการละลายยา เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการพิจารณามาตรฐานของโรงงานผู้ผลิต เมื่อผ่านขั้นตอนการคัดเลือกคุณภาพของเวชภัณฑ์แล้ว จึงนำเสนอข้อมูลให้คณะกรรมการจัดซื้อดำเนินการต่อรองราคาต่อไป และเมื่อดำเนินการจัดซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังต้องมีการควบคุมคุณภาพหลังการซื้อ โดยในกรณีของยา จะมีการสุ่มตัวอย่างยาที่จัดซื้อส่งไปตรวจยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และติดตามผลการใช้ยาจากผู้สั่งใช้ยา และผู้ที่ใช้ยานั้นๆ ส่วนในกรณีของวัสดุการแพทย์ มักจะเป็นการติดตามสอบถามผลการใช้ จากผู้ใช้
<< ก่อนหน้านี้่ หน้าถัดไป>>