เฝ้าระวัง ADR: การเกิด Fixed-drug eruption ภายหลังใช้ยา Dimenhydrinate
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แจ้งผลการประเมินข้อมูลรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ในฐานข้อมูล Thai Vigibase พบรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ทางผื่นผิวหนังชนิด fixed-drug eruption ภายหลังใช้ยา dimenhydrinate นอกจากนี้ยังพบผื่นผิวหนังชนิดรุนแรงอื่น ๆ ด้วย เช่น Stevens-Johnson syndrome และ toxic epidermal necrolysis จึงขอให้ใช้ยาดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง\
สืบเนื่องจากผลการประเมินข้อมูลรายงานอาการไม่พึงประสงค์จาก Thai Vigibase พบว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รับรายงานจากเครือข่ายทั่วประเทศของยา dimenhydrinate จำนวนทั้งสิ้น 3,322 ฉบับ เป็นรายงานทางระบบผิวหนัง (skin and appendages disorders) มากที่สุด จำนวน 2,711 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2558) โดยพบ fixed-drug eruption มากที่สุด จำนวน 1,013 ฉบับ มีระดับความสัมพันธ์ใช่แน่นอน (certain) 223 ฉบับ อาจจะใช่ (probable) 634 ฉบับ น่าจะใช่ (possible) 148 ฉบับ ไม่น่าใช่ (unlikely) 1 ฉบับ และไม่ทราบ (unknown) 7 ฉบับ ผลของอาการส่วนใหญ่หายโดยยังมีร่องรอยเดิม
นอกจากนี้ ฐานข้อมูล Thai Vigibase ยังพบผื่นผิวหนังรุนแรงชนิดอื่น ๆ เช่น Stevens-Johnson syndrome 71 ฉบับ epidermal necrolysis 4 ฉบับ toxic epidermal necrolysis 21 ฉบับ erythema multiforme 45 ฉบับ erythema multiforme severe 3 ฉบับ เป็นต้น
ผื่นแพ้ยา fixed-drug eruption เป็นผื่นแพ้ยาที่พบได้บ่อย ลักษณะของผื่นจะมีรูปร่างกลม ขอบชัดเจน ระยะแรกเริ่มจะมีสีแดงจัด ต่อมาตรงกลางของผื่นอาจเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำหรือออกม่วง ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้มากบริเวณตรงกลางของผื่นอาจพองเป็นตุ่มน้ำได้ มักจะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ ลักษณะที่สำคัญที่สุดของผื่นแพ้ยาชนิดนี้ คือ หากผู้ป่วยได้รับยาเดิมที่แพ้เป็นครั้งต่อ ๆ มาอีก ก็จะเกิดผื่นแพ้ยาซ้ำตรงตำแหน่งเดิมทุกครั้งเสมอไป
กดที่ link ต่อไปนี้เพื่ออ่านรายละเอียด/download เอกสาร
ที่มา: เว็บไซต์ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
จดหมายข่าว HPVC Safety News ฉบับที่ 3/2558 วันที่ 2 มิถุนายน 2558