คุณภาพและความปลอดภัย ของ ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ยาเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลโดยตรงต่อประสิทธิผลในการให้บริการรักษาผู้ป่วยของสถานบริการสุขภาพ การคัดเลือกยาที่มีคุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสม มาไว้ให้บริการอย่างเพียงพอต่อผู้ป่วยเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสถานพยาบาลโดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ ซึ่งเป็นยุคสมัยของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การบริหารงานภายใต้งบประมาณในลักษณะเหมาจ่ายรายหัวประชากร โดยมีกรอบของการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบและประเมินผลคุณภาพยาที่จัดซื้อโดยสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นใจต่อผู้ใช้บริการในระบบดังกล่าว
สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ภญ.สุขศรี อึ้งบริบูรณ์ไพศาล และคณะได้ดำเนินการประเมินคุณภาพยาที่ใช้ในโรงพยาบาลของรัฐ ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2547- 2550 และนำเสนอผลการวิจัย ฯ ในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2551 ซึ่งการวิจัยดังกล่าวได้รับการตัดสินให้เป็น 1 ใน 8 ผลงานวิชาการดีเด่นที่นำเสนอด้วยโปสเตอร์
... ศูนย์ข้อมูล ฯ จึงขออนุญาตเผยแพร่ผลการวิจัยดังกล่าวให้แก่ผู้สนใจทุกท่านเพื่อเป็นข้อมูล และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน/การใช้งาน รวมทั้งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป
--------------------------------------------------------------------------------
คุณภาพและความปลอดภัยของยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ
สุขศรี อึ้งบริบูรณ์ไพศาล สุรัชนี เศวตศิลา
มาศวลัย ลิขิตธนเศรษฐ์ และโรจนา โกวิทวัฒนพงศ์
สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
การประเมินคุณภาพยาที่ใช้ในโรงพยาบาลของรัฐ ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2547- 2550 เป็นการศึกษาแบบ Prospective study การสุ่มตัวอย่างใช้วิธีสุ่มแบบง่าย อย่างน้อย 3 รุ่นผลิตต่อหนึ่งทะเบียนตำรับยา การตรวจสอบใช้วิธีและมาตรฐานตามหัวข้อที่กำหนดในตำรายาที่รัฐมนตรีประกาศหรือฉบับใหม่กว่าเป็นเกณฑ์ตัดสินผล ผลการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ยา 172 รายการในบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 5,693 ตัวอย่างจาก 1,532 ทะเบียนตำรับยา เป็นยาเม็ด ยาฉีด ยาแคปซูล และรูปแบบอื่นๆ ร้อยละ 65, 13, 13 และ9 ของตัวอย่างทั้งหมดตามลำดับ พบว่า คุณภาพผลิตภัณฑ์ยาผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 90 ของตัวอย่างทั้งหมด อีกร้อยละ 10 หรือจำนวน 569 ตัวอย่างจาก 261 ทะเบียนตำรับยา พบผิดมาตรฐานในบางรุ่นผลิต หัวข้อที่ผิดมาตรฐานสูงสุด คือ Related substances หรือ Chromatographic purity ซึ่งบ่งบอกความไม่คงสภาพของผลิตภัณฑ์ยา รองลงมาคือ การละลายของตัวยา ข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้นำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดซื้อยาของโรงพยาบาล ตลอดจนการแก้ไขหรือเพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่พบปัญหาโดยคณะกรรมการยา
ภาพโปสเตอร์ :
คุณภาพและความปลอดภัยของยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ
เอกสารงานวิจัย :
การประกันคุณภาพยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ