ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข

การดำเนินการจัดซื้อยาร่วมระดับเขต ... PRO or CON


ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2546 เห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อยาของกระทรวงสาธารณสุข ตามที่คณะกรรมการ ปปช.เสนอ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขมีการดำเนินการจัดซื้อยาร่วมในระดับเขต ทั้งนี้ อาจเริ่มทดลองในบางเขตก่อนนั้น

เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ฯ กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มทดลองดำเนินการในเขต 1 2 5 13 และ 19 ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา

และหลังจากที่ได้ทดลองดำเนินการมาในระยะหนึ่งแล้ว ควรที่จะได้มีศึกษา วิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และประเมินสถานการณ์การดำเนินงานในภาพรวม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป ดังนั้น ในปี 2550 กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจึงได้ดำเนินการวิจัย เรื่อง การประเมินผลการดำเนินการจัดซื้อยาร่วมระดับเขตตามมติคณะรัฐมนตรี 9 กันยายน 2546 และได้นำเสนอผลการวิจัยข้างต้น โดย ภญ.วรนัดดา ศรีสุพรรณ ในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2551 ซึ่งการวิจัยดังกล่าวได้รับการตัดสินให้เป็น 1 ใน 38 ผลงานวิชาการดีเด่นที่นำเสนอด้วยวาจา 

... ศูนย์ข้อมูล ฯ จึงขออนุญาตเผยแพร่ผลการวิจัยดังกล่าวให้แก่ผู้สนใจทุกท่านเพื่อเป็นข้อมูล และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน/การใช้งาน รวมทั้งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป 

--------------------------------------------------------------------------------

การประเมินผลการดำเนินการจัดซื้อยาร่วมระดับเขต
ตามมติคณะรัฐมนตรี 9 กันยายน 2546

วรนัดดา ศรีสุพรรณ
กลุ่มเทคนิกบริการและบริการเฉพาะ สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
 
บทนำ
สำนักงาน ปปช. ได้นำเสนอมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อยาของกระทรวงสาธารณสุข ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2546 เห็นชอบตามที่คณะกรรมการ ปปช.เสนอ ประเด็นสำคัญประการหนึ่งตามมาตรการดังกล่าวคือ การให้มีการจัดซื้อยาร่วมในระดับเขต โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มมีการทดลองดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา 

วัตถุประสงค์ เพิ่อศึกษา
       1. กระบวนการดำเนินการจัดซื้อยาร่วมระดับเขตในเขตทดลองต่าง ๆ
       2. ผลการดำเนินการจัดซื้อยาร่วมระดับเขตทั้งในเรื่องความประหยัด และความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง 

วิธีการศึกษา
 เป็นการประเมินผลการดำเนินการจัดซื้อยาร่วมระดับเขต กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ เขตทดลอง 5 เขต (เขต 1 2 5 13 และ 19) ตามมติที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบสอบถามที่จัดทำขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลและแบบสอบถามประเมินความพึงพอใจในการดำเนินการจัดซื้อยาร่วมระดับเขต 

ผลการศึกษา
       1. เขตทดลองทั้ง 5 เขตได้มีการดำเนินการจัดซื้อยาร่วมระดับเขต โดยในปี 2548 สามารถดำเนินการแล้วเสร็จใน 2 เขต คือ เขต 2 และเขต 5 สำหรับในปี 2549 สามารถดำเนินการแล้วเสร็จใน 2 เขต คือ เขต 5 และเขต 13
       2. ในการดำเนินการจัดซื้อยาร่วมระดับเขตในปี 2548-2549 ทำให้แต่ละเขตที่ดำเนินการสามารถจัดซื้อยาได้ในราคาถูกกว่าการจัดซื้อปกติ ตั้งแต่ 1.59-34.3 ล้านบาท ขึนกับจำนวนรายการและวงเงินที่จัดซื้อ เมื่อเทียบกับราคายาอ้างอิงของศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข
       3. ผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดซื้อยาร่วมระดับเขต ทั้งแพทย์และเภสัชกรที่เป็นผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติ ทั้งที่ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินการ และไม่ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการ ในภาพรวมส่วนใหญ่ มีความเห็นด้วยว่า การจัดซื้อยาร่วมระดับเขตทำให้เกิดความประหยัด เหมาะสมที่จะดำเนินการ ได้ยาที่มีคุณภาพ และเห็นว่ามีประโยชน์ในภพรวม 

วิจารณ์และเสนอแนะ
 การดำเนินการที่ไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จในทุกเขต เนื่องจากผู้ตรวจราชการในบางเขตยังเกรงว่าการดำเนินการจะเป็นการผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ทั้ง ๆ ที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติยกเว้นการไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบมาให้แล้ว จึงทำให้การดำเนินการบางเขตไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น หากแต่ละเขตมีการดำเนินการจริงจังมากขึ้นน่าจะสามารถประหยัดงบประมาณได้มากขึ้น การดำเนินการในปีต่อ ๆ ไป หากมีการคัดเลือกรายการยาที่จะมาดำเนินการจัดซื้อร่วมที่เป็นระบบ เช่น กลุ่มยาที่ใช้ร่วมกันใน รพ.ทุกระดับ กลุ่มยาที่ใช้ร่วมกันมากใน รพศ./รพท. และกลุ่มยาที่ใช้ร่วมกันมากใน รพช. และรวมถึงหากมีการจัดแบ่งการดำเนินการในแต่ละจังหวัดรับผิดชอบการดำเนินการ จะทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 

 เอกสารการนำเสนอผลงานด้วยวาจาในการประชุมวิชาการ  

ที่มา: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2551
นำเสนอในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2551
เอกสารการนำเสนอผลงานด้วยวาจาในการประชุมวิชาการ 





วันที่ประกาศข่าว : 13 ต.ค. 2557 -    จำนวนผู้เข้าชม 2166 View