ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข

ช้อนตวงยากับแก้วยาน้ำ : มาตรฐาน และความเสี่ยง


          หลาย ๆ คน คงเคยสงสัยว่า สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น ได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อการใช้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนที่เรารัก และใส่ใจ
กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพ และความปลอดภัยในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน และได้กำหนดมาตรฐาน (มอก.)สำหรับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีการจำหน่ายในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการผลิต/นำเข้า ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานที่เหมาะสม และปลอดภัยต่อการอุปโภคบริโภค โดยมาตรฐานที่กำหนด มีทั้งประเภทมาตรฐานทั่วไป (โดยความสมัครใจ) และมาตรฐานบังคับ ขึ้นกับระดับความเสี่ยงจากการใช้งานแล้วสิ่งของใกล้ตัว อย่างเช่น ช้อนตวงยาและแก้วยาน้ำ ที่เราใช้ ๆ กันอยู่ทั้งที่โรงพยาบาล สถานีอนามัย ที่ทำงาน และที่บ้านล่ะ มีการกำหนดมาตรฐานไว้หรือยัง และถ้ามีแล้ว ได้มาตรฐานตามที่กำหนดหรือเปล่า
...โรงพยาบาลราชบุรี โดย เภสัชกรหญิงศิริวรรณ เรืองสวัสดิ์ ได้ทำการวิจัยเชิงสำรวจเพื่อหาคำตอบให้กับข้อสงสัยข้างต้นนี้ และได้นำเสนอผลการวิจัยดังกล่าวภายใต้หัวข้อเรื่อง 'การเปรียบเทียบช้อนตวงยาพลาสติกกับมาตรฐาน มอก. และการเปรียบเทียบแก้วยาน้ำกับมาตรฐานออสเตรเลีย' ในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550 ซึ่งการวิจัยดังกล่าวได้รับการตัดสินให้เป็นลำดับที่ 2 ใน 21 ผลงานวิชาการดีเด่นที่นำเสนอด้วยวาจา ศูนย์ข้อมูล ฯ จึงขออนุญาตเผยแพร่ผลการวิจัยดังกล่าวให้แก่ผู้สนใจทุกท่านเพื่อเป็นข้อมูล และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน/การใช้งาน รวมทั้งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป 

--------------------------------------------------------------------------------

การเปรียบเทียบช้อนตวงยาพลาสติกกับมาตรฐาน 
มอก. และการเปรียบเทียบแก้วยาน้ำกับมาตรฐานออสเตรเลีย

ศิริวรรณ เรืองสวัสดิ์
กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลราชบุรี

 
                เนื่องด้วยภาชนะตวงยารับประทานชนิดน้ำ อันได้แก่ ช้อนตวงยา แก้วยาน้ำ ที่นำมาใช้ในปัจจุบันมีรูปทรงที่แตกต่างกันมาก จึงเกิดข้อสงสัยว่าภาชนะเหล่านี้ได้มาตรฐานหรือไม่ มีปริมาณถูกต้องตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าภาชนะเหล่านี้นำมาใช้ตวงวัดยาอาจทำให้ได้ปริมาณที่ไม่ถูกต้อง และเกิดผลเสียได้ โดยเฉพาะยาที่มีดัชนีในการรักษาแคบ (narrow therapeutic index drugs) ถ้าปริมาณยาที่ผู้ป่วยได้รับมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการแพ้/พิษ และถ้าน้อยเกินไปก็อาจไม่ได้ผลในการรักษาได้ วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้เพื่อเปรียบเทียบช้อนตวงยาพลาสติกกับ มอก. 1411-2540 ในด้านรูปร่างและมิติ ลักษณะทั่วไป ปริมาตร และแก้วยาน้ำกับ AUSTRALIAN STANDARD AS 2224.1-1986 และ AS 2224.2-1986 ในด้านรูปร่างและมิติ ปริมาตร ผลการเปรียบเทียบจะเป็นการกระตุ้นให้เลือกใช้ภาชนะตวงวัดยารับประทานชนิดน้ำที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยเพื่อลดปัญหาการได้รับยาเกินขนาด หรือได้รับยาในขนาดที่ต่ำกว่ากำหนด 
                รูปแบบการศึกษาเป็นงานวิจัยเชิงสำรวจ สุ่มตัวอย่างช้อนตวงพลาสติกที่มีจำหน่ายในท้องตลาด จำนวน 15 แบบ และแก้วยาน้ำชนิดที่ทำด้วยแก้ว 2 แบบ ชนิดที่ทำด้วยพลาสติก 2 แบบ โดยแต่ละแบบเก็บมา จำนวน 30 คัน หรือ 30 ใบ นำตัวอย่างมาเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่กำหนด และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ความถี่ สำหรับการเปรียบเทียบในหัวข้อรูปร่างและมิติ ลักษณะทั่วไป ใช้ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสำหรับการหาปริมาตร ใช้ t-test สำหรับการทดสอบปริมาตรของช้อนตวงยาและแก้วยาน้ำที่ปริมาตร 5 มิลลิลิตร โดยกำหนดระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ p = 0.05 
                จากผลของการเปรียบเทียบ พบว่า ช้อนตวงยา 15 แบบ แก้วยาน้ำชนิดแก้วและชนิดพลาสติกทั้ง 4 แบบ ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด บุคลากรทางการแพทย์ควรเลือกใช้ภาชนะตวงยาน้ำที่เหมาะสมขึ้น โดยใช้กระบอกยาฉีด (syringe) แทน ในกรณีให้ยาแก่เด็กเล็กหรือยาที่มีดัชนีการรักษาแคบ สำหรับการแก้ไขในระดับประเทศควรให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กำหนดให้มาตรฐานของภาชนะดังกล่าวเป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งผู้ผลิตผู้จำหน่ายและนำเข้าจะต้องผลิต จำหน่ายและนำเข้าเฉพาะผลิตเกณฑ์ที่ได้มาตรฐาน หากไม่กระทำจะมีความผิดตามกฎหมาย จึงจะทำให้ผู้ใช้ได้ใช้ภาชนะที่ได้มาตรฐาน 

 เอกสารการนำเสนอผลงานด้วยวาจาในการประชุมวิชาการ  

ที่มา: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550
         เอกสารการนำเสนอผลงานด้วยวาจาในการประชุมวิชาการ โดยความอนุเคราะห์ของ ภญ ศิริวรรณ เรืองสวัสดิ์ โรงพยาบาลราชบุรี
 





วันที่ประกาศข่าว : 13 ต.ค. 2557 -    จำนวนผู้เข้าชม 2134 View