ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข

บทกลอนสี่สุภาพ กับ ยาที่มีความเสี่ยงสูง


          โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้พัฒนาและจัดกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการใช้ยา อย่างต่อเนื่อง ...หนึ่งในกิจกรรมที่ดำเนินการในช่วงปีที่ผ่านมา คือ การส่งเสริมความตระหนักในการใช้ยาที่มีความเสี่ยงสูงโดยจัดทำเป็น บทกลอนต่างๆ เพื่อความสอดคล้องและง่ายต่อการจดจำ เผยแพร่และรณรงค์การใช้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องของโรงพยาบาล ตัวอย่างเช่น 

' KCL ไม่ควรให้ push หัวใจจะหยุด และอาจตายได้
Dilute ทุกครั้งเข้าไว้ ผู้ป่วยจะได้ ปลอดภัยทุกคน '

          ซึ่งในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550 ที่ผ่านมานี้ โรงพยาบาล ฯ ได้นำเสนอโปสเตอร์แสดงการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวและการประเมินผลการดำเนินงาน ภายใต้หัวข้อเรื่อง 'บทกลอนสี่สุภาพกับยาที่มีความเสี่ยงสูง' และได้รับการตัดสินให้เป็นลำดับที่ 3 ใน 13 ผลงานวิชาการดีเด่นที่นำเสนอด้วยโปสเตอร์สำหรับการประชุมดังกล่าว ศูนย์ข้อมูล ฯ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ให้ผู้สนใจทุกท่านเพื่อเป็นข้อมูล และจุดประกายความคิดในการสร้างสรรค์งานและบรรยากาศที่ดีในการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป 

--------------------------------------------------------------------------------


บทกลอนสี่สุภาพกับยาที่มีความเสี่ยงสูง

พรชนก แตงสมบูรณ์ , อภิสิทธิ์ เทียนชัยโรจน์, ปรารถนา ชามพูนท, มนัสวี จารุสาธิต
กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

 
                การศึกษาเชิงพรรณนานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรูปแบบกลอนสี่สุภาพในการช่วยจดจำแนวทางการใช้ยาที่มีความเสี่ยงสูงของโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก โดยการสุ่มสังเกตและใช้แบบประเมินสอบถามผู้ปฏิบัติในหอผู้ป่วย/หน่วยงาน 44 หน่วยงาน เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ (ระหว่างวันที่ 5 – 21 กรกฎาคม 2549) โดยการรณรงค์ให้จดจำบทกลอนสี่สุภาพที่แต่งจากเนื้อหาจุดสำคัญตามแนวทางเฝ้าระวังยาที่มีความเสี่ยงสูง 15 รายการของโรงพยาบาล และเผยแพร่ผ่านทางสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ เช่น การอ่านบทกลอนผ่านเสียงตามสายวันละ 2 ครั้ง การใช้หน้าจอพักคอมพิวเตอร์ในอินทราเน็ตของโรงพยาบาล นอกจากนี้ ได้แจกบทกลอนเรื่องยาที่มีความเสี่ยงสูงแต่ละตัวไปพร้อมกับการเบิกยาของหอผู้ป่วย/หน่วยงานเพื่อให้เก็บไว้ท่องจำ และแลกรางวัล โดยจัดแข่งขันประกวดท่องกลอนให้มากบทที่สุดด้วย วิเคราะห์ข้อมูลจากแบบประเมินความรู้ความเข้าใจ แบบสำรวจ และรายงานความคลาดเคลื่อนทางยา แสดงข้อมูลในรูปความถี่ ร้อยละ และการบรรยายผลรับที่ได้ 
                ผลการศึกษา ก่อนการรณรงค์ได้สุ่มสอบถามทุกหอผู้ป่วย/หน่วยงานพบว่า ร้อยละ 72.0 รับรู้แนวทางของระบบยาที่มีความเสี่ยงสูงที่โรงพยาบาลกำหนด มีร้อยละ 5 ที่สามารถบอกชื่อยา และข้อควรระวังของยาที่มีความเสี่ยงสูงได้ ภายหลังการรณรงค์พบว่า หอผู้ป่วยร้อยละ 69.7 สามารถท่องกลอนได้มากกว่า 5 บท และจากการสอบประเมินความรู้ตัวแทนหอผู้ป่วย/หน่วยงาน สามารถตอบถูกต้องตามจุดสำคัญเฉลี่ยร้อยละ 92.4 นอกจากนี้ ได้เยี่ยมสำรวจภายหลังรณรงค์ 3 เดือน พบว่า แต่ละหอผู้ป่วยยังสามารถจดจำและเข้าใจข้อควรระวังของยาได้เฉลี่ยร้อยละ 84.9 และได้ส่งรายงานความคลาดเคลื่อนทางยาที่มีความเสี่ยงสูงจากหอผู้ป่วย/หน่วยงาน 111 รายงานโดยไม่พบความรุนแรงระดับ E ขึ้นไป 
                การใช้กลอนสี่สุภาพเป็นกลยุทธ์รูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้ง่ายต่อการจดจำและสร้างความตระหนักแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นให้บุคลากรปฎิบัติตามแนวทางที่กำหนดต้องมีความต่อเนื่อง และยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถนำมาดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมต่อบริบทของแต่ละสถานการณ์ด้วย 

 บทกลอนสี่สุภาพกับยาที่มีความเสี่ยงสูง  

 เอกสารการนำเสนอผลงานด้วยโปสเตอร์ในการประชุมวิชาการ 

ที่มา: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550
         เอกสารการนำเสนอผลงานด้วยโปสเตอร์ในการประชุมวิชาการ โดยความอนุเคราะห์ของ ภญ พรชนก แตงสมบูรณ์ และคณะ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก 





วันที่ประกาศข่าว : 13 ต.ค. 2557 -    จำนวนผู้เข้าชม 3960 View