ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข

การติดตามพฤติกรรมราคายาในตลาดตามแนวคิด MAC (Miscellaneous Acquisition Capability Approach for Drug Price Behavior Monitoring)


          การพัฒนาเครื่องมือที่มีความไว และมีอำนาจในการจำแนกความผิดปกติที่แท้จริงของพฤติกรรมราคา เพื่อให้สามารถใช้ในการติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรมราคายาในตลาด เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ยาของภาครัฐ ตลอดไปจนถึงการสะท้อนถึงปัญหาได้อย่างจำเพาะ เที่ยงตรง นำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ถูกต้อง ตรงกับปัญหา และทันต่อเวลา เพื่อป้องกัน และแก้ไขไม่ให้เกิดการเสียประโยชน์โดยไม่จำเป็นของโรงพยาบาลและสังคมโดยรวม
         แนวคิด MAC หรือ Miscellaneous Acquisition Capability Approach (Udomaksorn, 2005) เป็นตัวแบบระเบียบวิธีเพื่อการติดตาม เฝ้าระวังพฤติกรรมราคายาซึ่งมีความไว และอำนาจในการจำแนกความผิดปกติของพฤติกรรมราคายาในตลาด และมีความเป็นไปได้สูงในเชิงปฏิบัติเมื่อทดลองใช้กับข้อมูลจริงบางส่วน 

แนวคิด MAC คืออะไร
         แนวคิด MAC (Miscellaneous Acquisition Capability) หรือขีดความสามารถเสริมกำลังซื้อ (Udomaksorn, 2005) เกิดจากการประยุกต์ใช้แนวคิดกำลังความสามารถ (Capability Approach) (Sen, 1993) เพื่อวัดขนาดความแตกต่างของราคายา โดยอาศัยพื้นฐานแนวคิดของเครื่องมือวัดความไม่เท่ากันทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Inequality Measurement)
         เมื่อกล่าวถึงขีดกำลังความสามารถในการจัดหาผลิตภัณฑ์ยาชนิดใดชนิดหนึ่งของผู้ซื้อรายหนึ่ง ให้ได้ราคาถูก อำนาจการต่อรองของผู้ซื้อซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป คือ ขนาดปริมาณซื้อ กล่าวคือ ผู้ซื้อซึ่งมีปริมาณซื้อมากจะมีขีดความสามารถในการจัดซื้อสูงกว่าผู้ซื้อที่มีปริมาณซื้อน้อย หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ซื้อปริมาณมากจะสามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันจากผู้ผลิตรายเดียวกันในราคาที่ถูกกว่าผู้ซื้อปริมาณน้อย ตามหลักการของการให้ส่วนลดปริมาณ(volume discounting) ความแตกต่างของราคาซึ่งเป็นไปตามขีดความสามารถในการจัดหาจากปริมาณซื้อที่ไม่เท่ากันนั้น เป็นไปตามกลไกตลาดและเกิดในทิศทางซึ่งยอมรับได้ นั่นหมายถึง ในการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ยาชนิดเดียวกันจากผู้ผลิตรายเดียวกัน ผู้ซื้อซึ่งมีขนาดปริมาณซื้อเท่ากัน ควรจะซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ในราคาเดียวกัน 
         อย่างไรก็ตาม ในภาวะการจัดซื้อซึ่งเกิดขึ้นจริงนั้นผู้ซื้อถึงแม้มีขนาดของปริมาณซื้อเท่ากัน เข้าต่อรองกับผู้ผลิตรายเดียวกัน กลับได้ผลลัพธ์เป็นราคาที่แตกต่างกัน นั่นแสดงว่าขีดความสามารถในการจัดหาของผู้ซื้อรายหนึ่งๆ นั้นมิได้มาจากขนาดของปริมาณซื้อเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกำลังความสามารถในการจัดหาอีกแหล่งหนึ่งซึ่งศิริพา อุดมอักษร (Udomaksorn, 2005) ให้ชื่อว่า ปัจจัยอื่นๆ เหนือกำลังซื้อ หรือ Miscellaneous Factors ที่อาจมีผลไปเพิ่ม หรือลด ขีดความสามารถในการจัดหาโดยรวมได้ ยกตัวอย่างเช่น ความพยายามในการต่อรองของผู้ทำหน้าที่จัดซื้อ ข้อมูลสารสนเทศ งบสวัสดิการโรงพยาบาล ภาพลักษณ์ของโรงพยาบาล ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างผู้จัดซื้อ และผู้ขาย เป็นต้น ความแตกต่างของขีดความสามารถในการจัดหาดังกล่าวระหว่างผู้ซื้อนี้เอง ที่เป็นผลให้เกิดความแตกต่างของราคาขึ้นซึ่งอาจเบี่ยงเบนไปจากทิศทางที่ควรจะเป็นจากส่วนลดปริมาณ (volume discounting) หรือในทางกลับกันราคาที่แตกต่างกันเมื่อปริมาณการซื้อเท่ากันเป็นเครื่องบ่งบอกขีดความสามารถจากปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากกำลังซื้อที่แตกต่างกัน ขีดความสามารถนี้ได้ถูกขนานนามว่า Miscellaneous Acquisition Capability (MAC) หรือ ขีดความสามารถเสริมกำลังซื้อ ดังนั้นเมื่อผู้ซื้อมี MAC แตกต่างกันราคายาที่ซื้อได้จึงมีความแตกต่างกัน ในการเปรียบเทียบราคายาโดยใช้ข้อมูลราคายาตรงๆนั้นทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ซื้อที่มีขนาดซื้อที่แตกต่างกัน แต่การนำ MAC ของผู้ซื้อมาเปรียบเทียบกันจะสะท้อนความแตกต่างของราคาอย่างชัดเจน เนื่องจากได้มีการปรับทดความแตกต่างของราคาอันเนื่องมาจากส่วนลดจากปริมาณซื้อ (volume discounting) แล้ว (Udomaksorn, 2005)
         หลักการ และแนวคิดดังกล่าวข้างต้น นำไปสู่การคิดค้นวิธีการคำนวณเพื่อวัดขนาดของ MAC และเครื่องมือต่างๆ ภายใต้แนวคิด MAC (Udomaksorn, 2005) ซึ่งมีความเหมาะสม และเป็นไปได้ในเชิงปฎิบัติ สำหรับการติดตาม และเฝ้าระวังพฤติกรรมราคายาในตลาด โดยจะนำเสนอขั้นตอนการใช้เครื่องมือต่างๆ ภายใต้แนวคิด MAC และการแปรผลต่อไป ตามลำดับ

บทความโดย: ศิริพา อุดมอักษร (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ (คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) 

กดที่นี่เพื่ออ่านรายละเอียด 





วันที่ประกาศข่าว : 13 ต.ค. 2557 -    จำนวนผู้เข้าชม 1217 View