ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข

มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อยาของกระทรวงสาธารณสุข


          คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2546 ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อยาของกระทรวงสาธารณสุข ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เสนอต่อ คณะรัฐมนตรี โดยมีหลักการสำคัญให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดซื้อยาร่วมกันในระดับเขต เพื่อพัฒนาการจัดซื้อยาร่วมกันของหน่วยงานในจังหวัดต่าง ๆ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาศัยกลวิธีในการรวมการจัดซื้อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง โดยดำเนินการร่วมในระดับเขตในรายการยาที่มีการใช้ร่วมกันในทุกจังหวัด 

          กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อยาของกระทรวงสาธารณสุข โดยจัดทำ โครงการพัฒนาประสิทธิภาพและประกันคุณภาพการจัดซื้อและบริการด้านเวชภัณฑ์ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการจัดซื้อยาร่วมกันของหน่วยงานในจังหวัดต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และได้ประสานกับ คณะกรรมการ ปปช. จัดทำ "หลักเกณฑ์ในการจัดซื้อยาของกระทรวงสาธารณสุขตามมติคณะรัฐมนตรี ฯ"  เรียบร้อยแล้ว โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้

1. การดำเนินการจัดซื้อยาในเขตระดับ ให้ถือเป็นการดำเนินการโดยราชการส่วนกลางในนามของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบอำนาจให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขแต่ละเขตเป็นผู้รับผิดชอบและมีอำนาจในการดำเนินการอนุมัติในฐานะหัวหน้าส่วนราชการผู้ซื้อ

2. ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขแต่ละเขตผู้รับมอบอำนาจจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขสามารถมอบอำนาจต่อในการออกหนังสือสั่งซื้อให้กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลแต่ละแห่ง

3. ให้ใช้สัญญาจะซื้อจะขายราคาคงที่ไม่จำกัดปริมาณ ในกรณีทำสัญญากับผู้ผลิตยา/ผู้ขายยาภายในประเทศ หรือสัญญาจะซื้อจะขายแบบปรับราคาได้ ในกรณีทำสัญญากับตัวแทนแต่ผู้เดียวที่ต้องสั่งซื้อยาจากต่างประเทศ ทั้งนี้โดยให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถออกใบสั่งซื้อกับผู้ขายเป็นคราว ๆ ได้ตามความต้องการใช้ในแต่ละครั้ง

4. ให้สามารถกำหนดและคัดเลือกราคายาแต่ละรายการได้มากกว่า 1 บริษัท โดยยาแต่ละรายการสามารถกำหนดให้ซื้อได้จาก 2-3 บริษัท ทั้งนี้โดยให้มีการกำหนดสัดส่วนจำนวนการขายยาของบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดและบริษัทที่เสนอในราคาที่ถัดต่อจากราคาต่ำสุดที่ยินยอมขายในราคาต่ำสุดด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนยาจากที่ให้ซื้อได้เพียงเฉพาะจากบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

5. การจัดซื้อยาในระดับเขตตามมาตรการฯ นี้ หากขัดหรือแย้งต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงบประมาณในระดับจังหวัด พ.ศ. 2524 รวมทั้งระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยวินัยทางงบประมาณและการคลัง พ.ศ. 2544 หรือระเบียบ/กฎ อื่นใด ให้ถือปฏิบัติตามมาตรการฯ นี้

 กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเขตทดลองในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ดังกล่าว 5 เขต ดังนี้•เขต 1   จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน 
• เขต 2   จังหวัดพิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ 
• เขต 5   จังหวัดสระบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และลพบุรี 
• เขต 13 จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และชัยภูมิ 
• เขต 19 จังหวัดสงขลา และสตูล

แผนภูมิสารสนเทศทางภูมิศาสตร์แสดงที่ตั้งของเขตทดลองการดำเนินการจัดซื้อยาร่วมระดับเขต

และในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2547 กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการจัดประชุม
ชี้แจงแนวทางการดำเนินการตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อยาตามมติคณะรัฐมนตรี ให้แก่ผู้ปฏิบัติในเขตทดลองต่าง ๆ ทราบ โดยให้เขตต่าง ๆ เริ่มดำเนินการเพื่อให้สามารถจัดซื้อยาได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 เป็นต้นไป 

จากการดำเนินการจัดซื้อยาร่วมระดับเขต ของเขตทดลองต่าง ๆ จำนวน 5 เขต ได้แก่ เขต 1, 2, 5, 13 และ 19 ในปีงบประมาณ 2548 มีการดำเนินการแล้วเสร็จ 3 เขต คือ เขต 1, 2 และ 5 (ข้อมูลถึงเดือนสิงหาคม 2548)


ผลการดำเนินการจัดซื้อยาร่วมระดับเขต ปีงบประมาณ 2548 





วันที่ประกาศข่าว : 13 ต.ค. 2557 -    จำนวนผู้เข้าชม 2046 View