ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข

ผลการสำรวจระดับชาติงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลด้านการจ่ายและบริหารยาของสมาคมเภสัชกรระบบสาธารณสุขแห่งอเมริกา (ASHP) ประจำปี ค.ศ. 2002


          สมาคมเภสัชกรระบบสาธารณสุขแห่งอเมริกา (ASHP) ได้นำเสนอผลการสำรวจระดับชาติงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลในส่วนของการจ่ายและบริหารยา ประจำปี ค.ศ. 2002 

          การสำรวจกระทำโดยการส่งแบบสำรวจโดยทางไปรษณีย์ไปยังผู้อำนวยการแผนกเภสัชกรรมของโรงพยาบาลศัลยกรรม-อายุรกรรมทั่วไปและโรงพยาบาลศัลยกรรม-อายุรกรรมเด็ก ในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 1101 แห่ง ที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างโดยวิธี stratified random sampling จากฐานข้อมูลโรงพยาบาล โดยการสนับสนุนของบริษัท SMG Marketing Group, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการข้อมูลด้านโรงพยาบาล 

แบบสำรวจดังกล่าวได้รับการตอบกลับคิดเป็นร้อยละ 46.7 โดยมีผลการสำรวจดังนี้
- ในช่วงปี 2002 จำนวนชั่วโมงการให้บริการทั้งแก่ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2001 ในขณะที่บุคลากรด้านเภสัชกรรมลดลง 8.5% และมีอัตราว่าง 7% เห็นได้ว่าเภสัชกรมีภาระงานมากขึ้น
- โรงพยาบาลส่วนใหญ่ (80%) มีระบบการจ่ายยารวมศูนย์สำหรับผู้ป่วยใน แต่ 44% มีโครงการที่จะกระจายการจ่ายยาให้มากขึ้น
- ร้อยละ 58 ของโรงพยาบาลที่มีระบบการกระจายยาแบบกระจายศูนย์ใช้เครื่องจ่ายยาแบบอัตโนมัติ
- โรงพยาบาลส่วนใหญ่ (81.4%) จ่ายยามากกว่า 3 ใน 4 ของยาประเภทรับประทานในรูปแบบหนึ่งหน่วยการใช้ (unit dose) และจ่ายยา 63.3% ของยาประเภทยาฉีด ให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งสูงขึ้นจากปี 1999
- โรงพยาบาลจำนวนมาก (89%) มีการแบ่งบรรจุยาทั้งประเภทยารับประทานและประเภทยาฉีด โดยที่โรงพยาบาลต่าง ๆ แบ่งบรรจุมากขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เนื่องมาจากในท้องตลาดไม่มีจำหน่ายขนาดบรรจุที่ต้องการ
- ประมาณ 20% ของแผนกเภสัชกรรมจ้างบุคคลภายนอกดำเนินการผลิตยาส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด
- ในโรงพยาบาลเกือบทุกแห่ง (99.7%) พยาบาลเป็นผู้บริหารยาให้แก่ผู้ป่วย
- แม้ว่าจะมีข้อเสนอแนะให้ใช้เทคโนโลยีของรหัสแท่งในการตรวจสอบและบันทึกขนาดยาที่ให้แก่ผู้ป่วยอย่างแพร่หลาย แต่มีโรงพยาบาลเพียง 1.5% เท่านั้นที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยเพิ่มจากปี 1999 ซึ่งมีการใช้ 1.1% 
- เกือบ 2 ใน 3 ของโรงพยาบาลใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดทำบันทึกการบริหารยา
- ในขณะที่การให้บริการทางเภสัชกรรมกำลังขยายออกไป ประเด็นเรื่องกำลังคนยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเภสัชกรในความพยายามที่จะรักษาและเพิ่มระบบการใช้ยาอย่างปลอดภัยให้มากขึ้น
- แม้ว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีระบบความปลอดภัยแต่การรับเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับปรุงด้านความปลอดภัยยังช้าอยู่ 

 





วันที่ประกาศข่าว : 13 ต.ค. 2557 -    จำนวนผู้เข้าชม 1128 View