ผลการศึกษาโครงกำหนดยุทธศาสตร์กำลังคนภาครัฐ กรณีแพทย์และพยาบาล (กระทรวงสาธารณสุข)
สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ. ดร. ศุภชัย ยาวะประภาษ ศึกษา โครงการกำหนดยุทธศาสตร์กำลังคนภาครัฐ ในกลุ่มข้าราชการครู ตำรวจ และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการที่มีจำนวนมาก คิดรวมกันเป็นประมาณร้อยละ 70 ของข้าราชการในฝ่ายพลเรือนทั้งหมด เพื่อให้การกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการกำลังคนมีขนาดและคุณภาพที่เหมาะสม สอดคล้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลภาครัฐ และทิศทางการพัฒนาประเทศ
ผลการศึกษากรณีบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งได้แก่ แพทย์และพยาบาล ได้มีการนำเสนอในการประชุม ก.พ. ครั้งที่ 7/2552 โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม 2552 มีข้อสรุปดังนี้
จำนวนแพทย์ที่สามารถทำเวชปฏิบัติได้ของประเทศไทย มีจำนวน 31,939 คน โดยสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของประเทศไทยคือ 1: 1,985 คน แพทย์ภาครัฐจำนวน 21,500 คน คิดเป็นสัดส่วนต่อประชากรของประเทศไทย 1 : 2,948 คน และแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 11,025 คน คิดเป็นสัดส่วนต่อประชากรในประเทศไทย 1: 5,750 คน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดสัดส่วนแพทย์ต่อผู้ป่วยไว้ที่ 1: 5,000 คน และสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของประเทศต่างๆ แล้ว แพทย์ไทยยังอยู่ในสัดส่วนที่ดีกว่า สัดส่วนของแพทย์ทั้งระบบต่อจำนวนประชากรยังมีการขาดแคลนอยู่แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤติ การขาดแคลนแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหามากกว่าแพทย์ในสังกัดอื่น ซึ่งมีปัญหาขาดแคลนมากในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก และ/หรือพื้นที่ห่างไกล จึงสะท้อนว่า อุปทานไม่เป็นปัญหาแต่กระทรวงสาธารณสุขต้องหาวิธีดึงให้แพทย์เข้าทำงานและอยู่ต่อไปในระบบ
สำหรับแนวโน้มในอนาคต ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในระบบจะบรรเทาลงไปเนื่องจากกำลังการผลิตแพทย์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีแพทย์กำลังทยอยเติมเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่องจนอาจส่งผลการมีแพทย์ในระบบมากเกินฐานะทางการเงินของประเทศในอนาคต
สำหรับกรณีพยาบาล พบว่า ปัจจุบันจำนวนพยาบาลที่มีใบประกอบวิชาชีพพยาบาลและผดุงครรภ์ มีจำนวน 118,087 คน โดยสัดส่วนของพยาบาลต่อจำนวนประชากรของประเทศไทยคือ 1: 532 คน ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดมาตรฐานไว้ 1: 500 คน การขาดแคลนพยาบาลเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ขณะเดียวกัน ภาพอนาคตชี้ว่า ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลในประเทศจะบรรเทาลงไป เนื่องจากการไหลของพยาบาลไทยออกไปทำงานต่างประเทศเริ่มลดลง มีทางเลือกในประเทศไทยมากขึ้น กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแนวโน้มจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น และการหมุนกลับของพยาบาลอายุมากที่ออกจากภาคเอกชนจะเร็วขึ้นและถี่ขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ห่วงใยถึงสภาพปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งส่งผลถึงขวัญและกำลังใจของแพทย์ ตลอดจนการขาดแคลนแพทย์ในบางภูมิภาค ซึ่งจะได้มีการศึกษาถึงปัญหาต่างๆ เหล่านี้ต่อไป โดยคณะผู้ศึกษา ได้เสนอ เป้าหมายการบริหารจัดการกำลังคนกลุ่มแพทย์และพยาบาล เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการกำกับดูแลกำลังคนกลุ่มแพทย์และพยาบาล ไว้ว่า “ในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยจะมีกำลังคนที่เป็นแพทย์ และการกระจายตัวของแพทย์ที่เพียงพอกับความต้องการด้านสาธารณสุขของประเทศ และมีกำลังคนพยาบาลที่มีคุณภาพเพียงพอกับความต้องการด้านการสาธารณสุขของประเทศ” ด้วย