ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข

คณะกรรมการพัฒนาระบบเภสัชกรรม
(Chief Pharmacy Officer : CPO)

คณะกรรมการพัฒนาระบบเภสัชกรรม (Chief Pharmacy Officer : CPO)

กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) เพื่อขับเคลื่อนทุกหน่วยงานไปสู่เป้าหมาย ลดอัตราป่วย อัตราตาย และลดระยะเวลารอคอยของผู้รับบริการ โดยมียุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาความเป็นเลิศทั้งด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ด้านบริการสุขภาพ ด้านบุคลากร และด้านบริหารจัดการ ภายใต้กรอบแนวคิดประเทศไทย 4.0 ที่มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งระบบยาเป็นระบบที่มีความสำคัญในด้านบริการสุขภาพ การพัฒนาด้านเภสัชกรรมเพื่อการจัดการระบบยาให้มีประสิทธิภาพเป็นส่วนสนับสนุนให้นโยบายกระทรวงสาธารณสุขบรรลุเป้าหมาย

ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาระบบเภสัชกรรมของหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนาระบบเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข (Chief Pharmacy Officer: CPO) โดยให้มีหน้าที่และอำนาจต่อไปนี้

  • กำหนดทิศทางและพัฒนาแนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อนนโยบายด้านยาและเภสัชกรรมของกระทรวงสาธารณสุข สู่หน่วยบริการให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความจำเป็นของผู้ป่วยในการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม และมีความปลอดภัย สอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) กระทรวงสาธารณสุข 
  • ร่วมกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาศักยภาพเภสัชบุคลากรของหน่วยบริการสุขภาพให้มีความรู้ ทักษะในการให้บริการตามเป้าหมายของแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และจัดทำข้อเสนอด้านอัตรากำลัง ค่าตอบแทนและความก้าวหน้าที่สอดคล้องกับภาระงาน
  • พัฒนาระบบสารสนเทศด้านยาและเภสัชกรรม เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการระบบเภสัชกรรมให้มีประสิทธิภาพ
  • ติดตาม ควบคุม กำกีบ ประเมินผลและแก้ไขปัญหาเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนด
  • จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาด้านยาและเภสัชกรรม ระดับกระทรวงสาธารณสุข
  • แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานตามความเหมาะสม

คำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนาระบบเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข
(Chief Pharmacy Officer: CPO)
 
(คำสั่งที่ 642/2564) 

และโดยที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดรูปแบบการบริหารจัดการในส่วนภูมิภาคโดยแบ่งพื้นที่เป็นเขตสุขภาพ เพื่อกระจายอำนาจการบริหารจัดการจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาค ให้หน่วยบริการในแต่ละเขตสุขภาพบริหารทรัพยากรต่างๆที่มีจำกัดร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ  มีการวางแผนพัฒนาหน่วยบริการในเครือข่ายตามลำดับความสำคัญ ภายใต้เป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึงนโยบายและระเบียบปฏิบัติต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขมีความเกี่ยวข้องกับ ระบบเภสัชกรรมในหลายๆด้าน เช่น การจัดซื้อร่วมยาในระดับเขตและระดับจังหวัด การจัดซื้อยาตามบัญชีนวัตกรรมและยาที่ผลิตได้เองในประเทศซึ่งผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง   การพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อการใช้ยาสมเหตุผล (Rational Drug Use) การพัฒนางานเภสัชกรรมปฐมภูมิ  การพัฒนางานเภสัชกรรมเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาต่างๆให้บรรลุเป้าหมาย การพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยด้านยา การส่งเสริมการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมการจัดซื้อจัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาของกระทรวงสาธารณสุข  ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการบริหารจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาของส่วนราชการและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข การส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทย เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาระบบเภสัชกรรมในระดับเขตสุขภาพมีประสิทธิผล สามารถเชื่อมโยงนโยบายที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงไปสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัดต่างๆในเขตสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทและทรัพยากรที่มีอยู่ ในระดับเขตสุขภาพจึงควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบเภสัชกรรม (Chief Pharmacy Officer) ในรูปแบบขององค์การเสมือนจริง (Virtual Organization) เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนระบบเภสัชกรรมให้ตอบสนองต่อนโยบาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องและการบริหารจัดการด้านยาแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ให้บรรลุเป้าหมายต่อไป สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงได้แจ้งเวียนแนวทางการดำเนินการของคณะกรรมการพัฒนาระบบเภสัชกรรม (Chief Pharmacy Officer)  ระดับเขตสุขภาพ และเขตสุขภาพต่างๆ ทั้ง 12 เขตสุขภาพ ได้ดำเนินการแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนาระบบเภสัชกรรม (Chief Pharmacy Officer)  ระดับเขตสุขภาพ 
 


ที่มา: กองบริหารการสาธารณสุข